สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 21-27 พ.ย.2564

1.ศาลสั่งถอนประกัน “รุ้ง” เหตุผิดเงื่อนไข-ทำสถาบันเสื่อมเสีย ขณะที่เจ้าตัวเขียน จ.ม.จากคุก ชี้การถูกขังเป็นอุปสรรคร้ายแรงต่อการเรียน!

เมื่อวันที่ 22 พ.ย. ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ได้นัดฟังคำสั่งคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 7 โจทก์ยื่นคำร้องต่อศาล ขอให้ไต่สวนพยานและมีคำสั่งเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราว

น.ส.ปนัสยา จิรวัฒนกุล หรือรุ้ง จำเลยที่ 5, นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ จำเลยที่ 6 และนายไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือแอมมี่ เดอะ บอตทอมบลูส์ จำเลยที่ 17

ที่กระทำผิดเงื่อนไขการปล่อยตัวของศาล ในคดีที่จำเลยทั้งสามร่วมกับพวกรวม 22 คน ดูหมิ่นสถาบัน ร่วมกันชุมนุม คดีปักหมุดสนามหลวงเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2563

โดยนายไชยอมรได้เดินทางมาศาลเพื่อฟังคำสั่ง ส่วน

น.ส.ปนัสยา ศาลได้เบิกตัวจากเรือนจำมาศาล เนื่องจากเมื่อไม่กี่วันก่อน น.ส.ปนัสยา ไม่ได้รับการประกันตัวในคดีหมิ่นสถาบัน ม.112 ในคดีอื่น เนื่องจากมีพฤติกรรมกระทำผิดซ้ำหลายครั้ง จึงถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำ

ขณะที่นายภาณุพงศ์ ฟังคำสั่งศาลผ่านระบบทางไกลจอภาพ

ทั้งนี้ ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงในทางไต่สวนได้ความว่า หลังจากจำเลยที่ 5 ได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว

จำเลยที่ 5 มีพฤติการณ์โพสต์เชิญชวนให้ประชาชนไปร่วมชุมนุม และได้ขึ้นกล่าวปราศรัยในที่ชุมนุม รวมทั้งโพสต์รูปตนเองแต่งกายชุดดำ พร้อมเชิญชวนให้ประชาชนแต่งกายเช่นเดียวกันในวันที่ 28 ก.ค. 2564 ซึ่งเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียแก่สถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นการผิดเงื่อนไขคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณา จึงให้เพิกถอนคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยที่ 5 และออกหมายขังจําเลยที่ 5 ในคดีนี้

สำหรับจำเลยที่ 6 และที่ 17 แม้จะฟังว่า ได้เข้าร่วมชุมนุมและมีการขึ้นกล่าวปราศรัย

แต่ไม่มีพฤติการณ์ร้ายแรงดังเช่นจำเลยที่ 5 จนถึงขนาดที่จะเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราว แต่เห็นสมควรกำชับจำเลยที่ 17 ให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวที่ศาลกำหนดไว้โดยเคร่งครัด

พร้อมกำชับนายคมชาญ แก้ววิบูลย์พันธุ์ กับนางอรวรรณ แก้ววิบูลย์พันธุ์ ผู้กำกับดูแลจำเลยที่ 17 ดูแลจำเลยที่ 17 ให้เข้มงวดกว่านี้ และเพื่อให้แน่ใจว่า จำเลยที่ 17 จะไม่ฝ่าฝืนเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราว อันจะก่อให้เกิดความเสียหาย

จึงเห็นควรกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมโดยห้ามมิให้จำเลยที่ 17 ออกนอกเคหสถานตั้งแต่เวลา 16.00 น. ถึง 05.00 น. เว้นแต่มีเหตุจำเป็นเพื่อการรักษาพยาบาล หรือเหตุอื่นเมื่อได้รับอนุญาตจากศาล โดยให้จำเลยที่ 17 ติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว หากจำเลยที่ 17 ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขให้ถอนประกันและขังจำเลยที่ 17 ไว้ในคดีนี้

ในส่วน

จำเลยที่ 6 หากได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในคดีอื่น ให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขเช่นเดียวกับจำเลยที่ 17 ศาลให้ยกคำร้องขอเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวในส่วนจำเลยที่ 6 และที่ 17

ภายหลังเจ้าหน้าที่ศาลอาญาติดอุปกรณ์กำไลข้อเท้า (EM) ให้กับนายไชยอมร เรียบร้อยแล้ว สื่อมวลชนได้ขอดู และให้แอมมี่ยกขาข้างซ้ายเพื่อถ่ายภาพกำไลข้อเท้า (EM)

โดยนายไชยอมร ให้สัมภาษณ์ว่า

เจตนาก็คือต้องการให้เราหยุดเคลื่อนไหว ก็ยังดีที่อย่างน้อยไม่โดนถอนประกัน ยังไม่โดนพรากอิสรภาพไป แต่ก็เพิ่มมาด้วยเงื่อนไขติดกำไลอีเอ็ม แล้วก็อยู่ในเคหสถานเกือบ 24 ชั่วโมง พูดง่ายๆ ว่า อยากให้แกนนำทุกคนหยุดเคลื่อนไหว

หยุดความคิดเห็น หยุดศูนย์รวมจิตใจของมวลชนที่จะออกไปเรียกร้องประชาธิปไตย แต่ที่น่าเสียใจไปกว่านั้นคือ คำตัดสินถอนประกันรุ้ง เหตุผลฟังดูแล้วใกล้เคียงกับกรณีใส่เสื้อครอปท็อป คือ การชักชวนคนมาใส่เสื้อสีดำคิดว่าเป็นประเด็นที่เปราะบางเกินไปที่เอานักศึกษาขังคุก ประเด็นมาตรา 112 ไม่ใช่เป็นเรื่องภายในประเทศ แต่เป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน

เมื่อถามว่า วันนี้ได้เจอกับ รุ้ง ปนัสยา ในห้องพิจารณาคดี ได้พูดคุยอะไรกันบ้าง นายไชยอมร กล่าวว่า รุ้งใส่ชุดผู้ต้องขัง ส่วนจิตใจจะบอกว่าเข้มแข็งก็ได้ แต่

ที่ผมได้พูดกับรุ้ง ก็เป็นเรื่องการฝากงาน ฝากไม้ต่อกันมากกว่า และรุ้งก็ยังเป็นห่วงว่า คนอยู่ข้างนอกจะขยับเขยื้อนกันอย่างไร ทำให้การประชุมขับเคลื่อนติดขัดไป แต่เชื่อว่า ถ้าจับแกนนำขังหมด ก็ต้องมีรุ่นใหม่ขึ้นมา เราจะใช้ความพยายายามและความอดทนให้มากขึ้น

ล่าสุด เมื่อวันที่ 26 พ.ย. เฟซบุ๊ก “Panusaya Sithijirawattanakul” ได้โพสต์ภาพจดหมายเขียนด้วยลายมือ โดยระบุว่า เป็นจดหมายจาก น.ส.เบนจา อะปัญ สมาชิกแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ผู้ต้องหาคดีหมิ่นสถาบัน และ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล โพสต์โดยพี่สาวของรุ้ง มีใจความสำคัญว่า

"หนูชื่อ เบนจา อะปัญ อายุ 22 ปี ถูกคุมขังอยู่ที่ทัณฑสถานหญิงกลางมา 50 วัน และ รุ้ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล อายุ 23 ปี ถูกคุมขังมาแล้ว 12 วัน โดยไม่ได้รับสิทธิประกันตัว ทั้งที่ไม่เคยคิดจะหลบหนี, ยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือไม่เคยที่จะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นแต่อย่างใด"

"การที่ศาลขังพวกเราไว้แบบนี้ ทำให้ต้องเผชิญกับอุปสรรคในการเรียนอย่างร้ายแรง อย่างรุ้งก็อยู่ในระหว่างการทำวิจัยที่เป็นงานกลุ่มกับเพื่อนที่ไม่สามารถทำต่อได้ และในอีก 1 อาทิตย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะมีสอบปลายภาค ซึ่งเป็นการสอบที่สำคัญมาก "

"ถ้าศาลสงสัยว่าอยากจะเรียนมาก แล้วออกมาทำกิจกรรมทางการเมืองทำไม ก็อยากจะตอบศาลว่า เพราะพวกหนูอยากใช้ความรู้ที่มีในการพัฒนาและสร้างสรรค์สังคม พวกเราจึงทำทั้งสองอย่างไปพร้อม ๆ กัน ทั้งเรียน และต่อสู้เพื่อสังคมและประชาชน"

"หากศาลมองว่าพวกหนูคืออาชญากรที่เป็นภัยต่อความมั่นคงระดับประเทศ หนูก็ต้องถามศาลต่อว่า ทำไมถึงมีประชาชนจำนวนมากที่เรียกร้องให้ปล่อยตัวพวกหนู ทั้งคนทั่วไป ศิลปิน ดารา ผู้แทนราษฎร หรือองค์กรสิทธิ อย่างแอมเนสตี้ หลายสาขาทั่วโลก หรือยูเอ็น ก็แสดงความกังวลถึงกรณีการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุม"

"การขังพวกหนูไว้แบบนี้ ไม่ได้เป็นประโยชน์อันใดเลย หากเพียงแต่เป็นการพรากอิสรภาพและทำลายอนาคตของพวกหนู เพื่อคงไว้ซึ่งผลประโยชน์ของกลุ่มคนที่ไม่ต้องการให้เราออกมาวิพากษ์วิจารณ์ และแสดงความคิดเห็นทางการเมืองเท่านั้น การขังพวกเราไว้ ไม่ได้หยุดยั้งความคิดของประชาชนที่ต้องการความเปลี่ยนแปลง ซ้ำยังทำลายความเชื่อมั่นของประชาชนคนไทย และสายตาของประชาคมโลกที่มีต่อศาลและกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยอีกด้วย"

2.พบโควิดกลายพันธุ์ตัวใหม่ "โอไมครอน" จากแอฟริกา แพร่กระจายเร็ว ขณะที่ไทยสั่งห้าม 8 ประเทศเดินทางเข้า หวั่นเชื้อหลุดเข้าไทย!

เมื่อวันที่ 26 พ.ย. องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้แถลงภายหลังการประชุมคณะผู้เชี่ยวชาญด้านโควิด-19 โดยมีการตั้งชื่อโควิด-19 ตัวกลายพันธุ์ B.1.1.529 ที่พบในภูมิภาคแอฟริกาตอนใต้ว่า “โอไมครอน” (Omicron) ซึ่งเป็นการเรียกชื่อตามลำดับอักษรกรีก พร้อม

ประกาศให้เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล (variant of concern) เนื่องจากมีแนวโน้มแพร่กระจายได้เร็วกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้า

ถือได้ว่า โอไมครอนเป็นโควิด-19 กลายพันธุ์ตัวที่ 5 ที่องค์การอนามัยโลกจัดอยู่ในกลุ่มสายพันธุ์ที่น่ากังวล ตามหลังสายพันธุ์อัลฟา, เบตา, แกมมา และเดลตา

จากข้อมูลในเบื้องต้นบ่งชี้ถึง

“การเปลี่ยนแปลงในทางระบาดวิทยาของโควิด-19 ที่อันตราย”

และผู้ที่เคยป่วยแล้ว มีโอกาสที่จะติดเชื้อซ้ำมากขึ้น

ทั้งนี้ ยอดผู้ติดเชื้อในแอฟริกาตอนใต้ได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับการค้นพบไวรัสกลายพันธุ์โอไมครอน

องค์การอนามัยโลก ระบุว่า

“ไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนมีการกลายพันธุ์ในหลายตำแหน่งมาก ซึ่งบางจุดถือว่าน่ากังวล และจากหลักฐานเบื้องต้นพบว่า มันจะเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อซ้ำได้มากกว่าสายพันธุ์ (ที่น่ากังวล) อื่นๆ”

อย่างไรก็ตาม แม้จำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นเร็วยิ่งกว่าสายพันธุ์อื่นๆ จะบ่งบอกว่าโอไมครอนอาจมีพัฒนาการในการกระจายตัวที่ดีขึ้น แต่ชุดตรวจแบบ PCR ที่ใช้ในปัจจุบัน ยังสามารถตรวจจับสายพันธุ์นี้ได้

ก่อนหน้านี้ องค์การอนามัยโลกได้ออกมาเตือนทุกประเทศว่า ไม่ควรรีบร้อนสั่งแบนผู้เดินทางแบบเหมารวมเพื่อสกัดไวรัสตัวนี้ โดยขอให้พิจารณาถึงระดับความเสี่ยง และอิงกับหลักวิทยาศาสตร์

คริสเตียน ลินด์ไมเออร์ โฆษกของ WHO ยอมรับว่า

อาจจะต้องใช้เวลาอีกหลายสัปดาห์กว่าที่ผู้เชี่ยวชาญจะสามารถบอกถึงศักยภาพในการแพร่กระจายของสายพันธุ์โอไมครอน รวมถึงประสิทธิภาพของวัคซีนและตัวยาที่ใช้อยู่ในปัจจุบันว่า จะสามารถรับมือกับไวรัสกลายพันธุ์ตัวนี้ได้มากน้อยแค่ไหน

ขณะที่ในส่วนของไทย ล่าสุด ( 27 พ.ย. ) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึงการตรวจพบโควิดสายพันธุ์ใหม่ ในทวีปแอฟริกา ซึ่งองค์การอนามัยโลกตั้งชื่อว่า Omicron ว่า

ตนได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รวมทั้งหน่วยงานคัดกรองที่จุดต่างๆ ให้จับตามองและให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นพิเศษ

และรายงานข้อมูลในทันทีที่มีความคืบหน้า หรือมีข้อเสนอแนะด้านมาตรการต่างๆ ซึ่ง

หากมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องมีการปรับมาตรการโดยเฉพาะการเดินทางเข้าออกประเทศจากประเทศต่างๆ ที่มีการพบผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่นี้ ตนสั่งการให้ดำเนินการโดยทันที

โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนสูงสุด

พล.อ.ประยุทธ์ ยังขอให้ประชาชนใช้ความระมัดระวังในการดำเนินชีวิต ลด-เลี่ยงความเสี่ยงในการติดเชื้อ

ขอให้ทุกคนอย่าประมาทการ์ดไม่ตก ส่วนตนและรัฐบาล จะทำทุกทางเพื่อปกป้องประเทศและประชาชนชาวไทยทุกคนอย่างดีที่สุด

วันเดียวกัน (27 พ.ย.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวเกี่ยวกับมาตรการเฝ้าระวังเชื้อโควิดกลายพันธุ์ตัวใหม่ "โอไมครอน" ว่า ทางกระทรวงสาธารณสุขได้มีการติดตามเฝ้าระวัง และกำหนดมาตรการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ โดย

ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.นี้ ไม่อนุญาตให้ผู้ที่เดินทางจาก 8 ประเทศต่อไปนี้เข้าราอาณาจักร ประกอบด้วย บอตสวานา เอสวาตินี โลโซโท มาลาวี โมซัมบิก นามิเมีย แอฟริกาใต้ ซิมบับเว และไม่อนุญาตให้ลงทะเบียน ตั้งแต่วันที่ 27 พ.ย. 64 ส่วนผู้ที่ได้รับอนุญาตแล้ว จะดำเนินการกักตัว เป็นเวลา 14 วัน ตั้งแต่วันที่ 28 พ.ย. 64

ส่วน

ประเทศในทวีปอเมริกา จะมีการกำหนดตามรูปแบบการเข้าราชอาณาจักร โดยไม่อนุญาตให้เข้าในรูปแบบ Test and Go และไม่อนุญาตให้เข้าในรูปแบบ Sand Box แต่สามารถเข้าราชอาณาจักรได้โดยการกักตัวในสถานกักกันที่ทางราชการกำหนดเท่านั้น และไม่อนุญาตให้ทำกิจกรรมนอกห้องพักเป็นเวลา 14 วัน ซึ่งจะต้องตรวจหาเชื้อโควิด-19 3 ครั้ง วันที่ 0-1, 5-6 และ 12-13

ด้าน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ด้วยระบบเฝ้าระวังของไทย จากที่ได้มีการตรวจไป 7,000 กว่าเคส

ขณะนี้ยังไม่พบผู้ติดเชื้อโอไมครอนในประเทศไทย

ทั้งนี้ "โอไมครอน" ถูกยกขึ้นมาเป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล เนื่องจากมีการกลายพันธุ์หลายตำแหน่ง ปกติโควิด-19 มีตำแหน่งกว่า 30,000 ตำแหน่ง แต่มีการกลายพันธุ์ไม่กี่ตำแหน่ง อย่าง เดลตา มีการกลายพันธุ์ 9 ตำแหน่ง

แต่โอไมครอน มีการกลายพันธุ์ 32 ตำแหน่ง และตำแหน่งที่กลายพันธุ์มีหลายประเภท เช่น สามารถพบได้ในตำแหน่งเดียวกับเดลตา และมาพบในตำแหน่งใหม่ๆ ซึ่งทำให้โอไมครอน มีฤทธิในการหลบภูมิ หรือดื้อต่อวัควีน และมีการกลายพันธุ์ขึ้นใหม่

แม้ตอนนี้ยังไม่พบผู้ติดเชื้อในประเทศไทย แต่ต้องมีการเฝ้าระวัง ติดตามอย่างใกล้ชิด

3. ศบค. ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อีก 2 เดือน พร้อมยกเลิกพื้นที่สีแดงเข้ม-เพิ่มพื้นที่ท่องเที่ยวอีก 3 จังหวัด “กาญจนบุรี-นนทบุรี-ปทุมธานี”!

เมื่อวันที่ 26 พ.ย. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงผลการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานว่า

ที่ประชุม ศบค. เห็นชอบขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เนื่องจากมีช่วงระยะเวลาคาบเกี่ยวกับเทศกาลปีใหม่ คือ ระหว่างเดือน ธ.ค.2564 กับเดือน ม.ค. 2565 จึงเห็นควรพิจารณาขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินครั้งที่ 15 เป็นระยะเวลา 2 เดือนตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 64-31 ม.ค. 65 เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการปฏิบัติหน้าที่และการดำเนินชีวิตของประชาชน

นอกจากนี้ ที่ประชุม ศบค. เห็นชอบการปรับระดับพื้นที่สถานการณ์ทั่วราชอาณาจักร โดย

พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) จากเดิม 6 จังหวัด ปรับเป็นไม่มี ส่วนพื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) จากเดิม 39 จังหวัด ปรับลดเหลือ 23 จังหวัด

ประกอบด้วย จังหวัดขอนแก่น จันทบุรี ชุมพร เชียงราย เชียงใหม่ ตรัง ตราด ตาก นครราชสีมา นครศรีธรรมราช นราธิวาส ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี ปัตตานี พระนครศรีอยุธยา พัทลุง ยะลา ระยอง สงขลา สตูล สระบุรี สระแก้ว และสุราษฎร์ธานี

ส่วน

พื้นที่ควบคุม (สีส้ม) คงเดิม 23 จังหวัด

ประกอบด้วย ฉะเชิงเทรา ชัยนาท ชัยภูมิ ชลบุรี นครนายก นครปฐม พิษณุโลก เพชรบุรี เพชรบูรณ์ แม่ฮ่องสอน ระนอง ราชบุรี ลพบุรี ลำปาง ลำพูน สมุทรปราการ สมุทรสงครามสมุทรสาคร สิงห์บุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง อุดรธานี และอุบลราชธานี

พื้นที่เฝ้าระวังสูง (สีเหลือง) จากเดิม 5 จังหวัด ปรับเพิ่มเป็น 24 จังหวัด

ประกอบด้วย กาฬสินธุ์ กำแพงเพชร นครพนม นครสวรรค์ น่าน บึงกาฬ บุรีรัมย์ พะเยา พิจิตร แพร่ มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สุโขทัย สุรินทร์ หนองคาย หนองบัวลำภู อุตรดิตถ์ อุทัยธานี และอำนาจเจริญ

ส่วน

พื้นที่นำร่องท่องเที่ยว (สีฟ้า) จากเดิม 4 จังหวัด ปรับเพิ่มเป็น 7 จังหวัด

ประกอบด้วย กรุงเทพฯ กระบี่ กาญจนบุรี นนทบุรี ปทุมธานี พังงา และภูเก็ต โดยพื้นที่นำร่องท่องเที่ยวให้ใช้มาตรการเช่นเดียวกับพื้นที่เฝ้าระวัง ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2564

สำหรับ

จังหวัดที่กำหนดเป็นพื้นที่นำร่องท่องเที่ยวในแต่ละระยะ (สีฟ้า) ระยะที่ 1 วันที่ 1-30 พ.ย. 2564 เขียนกำหนดพื้นที่นำร่องด้านเศรษฐกิจเป็นเมืองหลักหรือจังหวัดที่มีสัดส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติน้อยกว่าร้อยละ 15 ของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมด จำนวน 15 จังหวัด

ประกอบด้วย กรุงเทพฯ สมุทรปราการ (สนามบินสุวรรณภูมิ) กระบี่ (ทั้งจังหวัด) พังงา (ทั้งจังหวัด) ประจวบคีรีขันธ์ (ตำบลหัวหินและหนองแก) เพชรบุรี (เทศบาลเมืองชะอำ) ชลบุรี (พัทยา บางละมุง นาจอมเทียน บางเสร่ เกาะสีชัง และ อ.ศรีราชา) ระนอง (เกาะพยาม) เชียงใหม่ (อำเภอเมืองแม่ริม แม่แตง ดอยเต่า) เลย (เชียงคาน) บุรีรัมย์ (อำเภอเมือง) หนองคาย (อำเภอเมืองศรีเชียงใหม่ ท่าบ่อ สังคม) อุดร (อำเภอเมืองทนายูง หนองหาน ประจักษ์ศิลปาคม กุมภวาปี และ บ้านดุง) ระยอง (เกาะเสม็ด) และ ตราด (เกาะช้าง)

ส่วน

ระยะที่ 2 วันที่ 1-31 ธ.ค. 2564 เนื่องจากเป็นเมืองหลักหรือจังหวัดที่มีสัดส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 ของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมด รวมถึงมีสินค้าการท่องเที่ยวด้านศิลปวัฒนธรรม และเป็นจังหวัดที่มีพรมแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน รวม 27 จังหวัด

ประกอบด้วย กาญจนบุรี (ทั้งจังหวัด) นนทบุรี (ทั้งจังหวัด) ปทุมธานี (ทั้งจังหวัด) เชียงราย (อำเภอเมือง แม่จัน แม่สาย เทิง พาน เวียงป่าเป้า แม่สรวย แม่ฟ้าหลวง เชียงแสน เวียงแก่น และเชียงของ) เชียงใหม่ (จอมทอง) อยุธยา ขอนแก่น (อำเภอเมือง เขาสวนกวาง อุบลรัตน์ ภูเวียง เวียงเก่าพล เปือยน้อย) นครราชสีมา (อำเภอเมือง ปากช่อง วังน้ำเขียว สีคิ้ว พิมาย เฉลิมพระเกียรติ และโชคชัย) สุรินทร์ (อำเภอเมือง ท่าตูม) จันทบุรี (อำเภอเมือง และท่าใหม่) ตราด (เกาะกูด) สงขลา (อำเภอเมือง สะเดาและหาดใหญ่)

และ

ระยะที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2565 จำนวน 12 จังหวัด

ประกอบด้วย สระแก้ว (อำเภอเมืองและอรัญประเทศ) มุกดาหาร (อำเภอเมือง) บึงกาฬ นครพนม อุบลราชธานี (อำเภอเมืองและสิรินธร) ตราด (อำเภอคลองใหญ่ ) สุรินทร์ จันทบุรี ตาก น่าน กาญจนบุรี ราชบุรี และสตูล

4. ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง “ลูกสุเทพ” กับพวก คดีรุกป่าเขาแพง แต่ให้ขนย้ายบริวารพ้นสันอ่างเก็บน้ำ!

เมื่อวันที่ 23 พ.ย. ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีรุกป่าเขาแพง จ.สุราษฎร์ธานี ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ฟ้อง

นายพรชัย ฟ้าทวีพร อายุ 58 ปี ผู้จัดการ หจก.เรืองปัญญาคอนสตรัคชั่น, นายสามารถ เรืองศรี หรือโกเข็ก อายุ 66 ปี หุ้นส่วน หจก.เรืองปัญญาคอนสตรัคชั่น และนายหน้าขายที่ดิน, นายแทน เทือกสุบรรณ อายุ 42 ปี บุตรชายของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตแกนนำ กปปส. และนายบรรเจิด เหล่าปิยะสกุล อายุ 63 ปี อดีตเลขานุการส่วนตัวของนายสุเทพ

เป็นจำเลยที่ 1-4

ในความผิดฐานร่วมกันก่อสร้าง แผ้วถางป่า หรือเผาป่า หรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการทำลายป่า หรือเข้ายึดถือครอบครองป่าเพื่อตนเองและผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต และฐานเข้าไปยึดถือ ครอบครอง ก่อสร้าง หรือเผาป่าในที่ดินของรัฐโดยมิได้มีสิทธิครอบครองหรือไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9, 108 ทวิ และ พ.ร.บ.ป่าไม้ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2518 มาตรา 22

โดยโจทก์ฟ้องว่า ระหว่างวันที่ 27 ก.ย. 2543-5 ต.ค. 2544

จำเลยที่ 1-2 ได้ร่วมกันบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครอง ทำลาย แผ้วถางป่าเขาแพง อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เนื้อที่ 31 ไร่ 2 งาน 97 ตร.ว. ส่วนจำเลยที่ 3-4 ร่วมกันบุกรุกเข้าไปยึดถือ ครอบครอง ทำลาย แผ้วถางป่าเขาแพง อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เนื้อที่ 14 ไร่ ด้วยการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำโดยไม่ได้รับอนุญาต

คดีนี้

ศาลชั้นต้นพิเคราะห์แล้วเห็นว่า พวกจำเลยกระทำผิดจริง พิพากษาจำคุกจำเลยที่ 1-2 คนละ 5 ปี ส่วนจำเลยที่ 3-4 จำคุกคนละ 3 ปี โดยไม่รอลงอาญา

เนื่องจากกรณีเป็นเรื่องร้ายแรง หลังจากนั้น จำเลยยื่นอุทธรณ์ ต่อมา

ศาลอุทธรณ์พิเคราะห์แล้ว พิพากษาแก้ ให้ยกฟ้องจำเลยทุกคน ด้านอัยการโจทก์ได้ ยื่นฎีกา ให้ลงโทษพวกจำเลยด้วย

ต่อมา วันที่ 18 มี.ค. 64

ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อม พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ศาลอุทธรณ์ ยังวินิจฉัยไม่ครบถ้วนทุกประเด็น จึงมีคำสั่งย้อน (คืน) สำนวนให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา เพื่อมีคำพิพากษาใหม่

ทั้งนี้ ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริง จำเลยที่ 1-2 ขายที่ดินให้จำเลยที่ 3 โดยมิได้เข้าไปยึดครอง

ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยมานั้น ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นด้วย อุทธรณ์จำเลยฟังขึ้นบางส่วน พิพากษาแก้ ให้ยกฟ้องจำเลยทั้งสี่ ในส่วนของคดีอาญา

ส่วน

คดีทางแพ่ง ให้จำเลยที่ 3, 4 คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวาร ย้ายออกจากป่าเขาแพงทางทิศเหนือ และทิศตะวันออกของโฉนดเลขที่ 28109 ต.แม่น้ำ อ.เกาะสมุย แนวร่องน้ำ แนวสันอ่างเก็บน้ำ

โดยจำเลยที่ 3 และ 4 ไม่มีเหตุจะถือครองตามกฎหมาย เนื่องจากกฎหมายมีเจตนารมณ์ที่จะคุ้มครองรักษาไว้เพื่อประโยชน์แห่งสาธารณะ

หลังพิพากษา นายแทน กล่าวสั้นๆ ว่า

รู้สึกปกติดี

5. “ทรู-ดีแทค” ประกาศควบรวมกิจการตั้งบริษัทใหม่ลุยเทคโนโลยี ด้าน “ทีดีอาร์ไอ” ชี้ อันตราย-น่าห่วง กระทบทั้งผู้บริโภค-รัฐบาล!

เมื่อวันที่ 22 พ.ย. เครือเจริญโภคภัณฑ์ (เครือซีพี) ผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และกลุ่มเทเลนอร์ ผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัท โทเทิ่ล แอ็คแซส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน)

ได้ออกแถลงการณ์ร่วมประกาศสร้างความร่วมมืออย่างเท่าเทียมกัน โดยปรับโครงสร้างธุรกิจของทรูและดีแทค จัดตั้งบริษัทใหม่ที่จะถือหุ้นเท่าเทียมกัน

โดยมีเป้าหมายสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยี ภายใต้ยุทธศาสตร์เทคโนโลยีฮับ พร้อมเสริมธุรกิจเทคโนโลยีใหม่ สร้างดิจิทัลอีโคซิสเต็ม และกองทุนสตาร์ทอัพ สอดรับยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีระดับภูมิภาค โดยระหว่างศึกษาและพิจารณาการปรับโครงสร้างครั้งนี้ ธุรกิจของทรู และดีแทค จะยังคงดำเนินการตามปกติของแต่ละบริษัท

แถลงการณ์ยังระบุด้วยว่า

ทั้งสองฝ่ายตั้งเป้าจะหาข้อสรุปในรายละเอียดของความร่วมมืออย่างเท่าเทียม

โดยจะดำเนินการตามเงื่อนไขต่างๆ ทั้งการตรวจสอบกิจการของอีกฝ่ายหนึ่งให้แล้วเสร็จเป็นที่พอใจ การขออนุมัติที่เกี่ยวข้องจากที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทและผู้ถือหุ้นของทั้งสองบริษัท ตลอดจนการดำเนินขั้นตอนตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ให้แล้วเสร็จ

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานกรรมการบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า

การปรับโครงสร้างครั้งนี้ จะจัดตั้งเวนเจอร์ แคปิตอล สนับสนุนการลงทุนในบริษัทเทคโนโลยี

มุ่งเน้นการลงทุนในสตาร์ทอัพไทยและสตาร์ทอัพต่างประเทศที่ตั้งในประเทศไทย และมีแผนจะศึกษาด้านเทคโนโลยีอวกาศ เพื่อนำมาปรับใช้กับธุรกิจด้วย

ขณะที่นายซิคเว่ เบรกเก้ ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มเทเลนอร์ กล่าวว่า กลุ่มเทเลนอร์มีประสบการณ์ในการขับเคลื่อนโลกดิจิทัลในประเทศต่างๆ ในเอเชียมาแล้ว เชื่อว่าบริษัทใหม่นี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการต่อยอด ยกระดับประเทศไทยไปสู่การเป็นผู้นำในโลกดิจิทัลได้

นายซิคเว่ กล่าวด้วยว่า

“บริษัทใหม่นี้จะมีรายได้ 2 แสนล้านบาท พร้อมทั้งมีส่วนแบ่งทางการตลาด 40% เมื่อเทียบกับทางเอไอเอส เรามองในส่วนของรายได้มากกว่าสัดส่วนจำนวนผู้ใช้งาน เพราะคนไทยส่วนใหญ่มีซิมการ์ดมากกว่า 1 ตัว เอไอเอสยังคงเป็นผู้นำในตลาด เราจะเรียนรู้จากเอไอเอสด้วย”

วันต่อมา 23 พ.ย. นายสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สายงานโทรคมนาคม กล่าวหลังหารือกับผู้บริหารทรูและดีแทคว่า เป็นเรื่องของนโยบายบริษัทแม่ระหว่างเครือซีพีและกลุ่มเทเลนอร์ ร่วมกันสอบทานธุรกิจ บริษัทโฮลดิ้งของทรูและดีแทค เพื่อรวมกันตั้งบริษัทใหม่ รับซื้อหุ้นซึ่งกันและกัน เป็นเรื่องของทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และว่า

บริษัทโฮลดิ้งของทรูและดีแทคไม่ได้อยู่ภายใต้ใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมของ กสทช. ซึ่ง กสทช.ไม่สามารถเข้าไปดำเนินการได้

นายสุทธิศักดิ์ กล่าวด้วยว่า

“การรวมบริษัทโฮลดิ้งของทรูและดีแทค ต้องให้คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เป็นผู้ตรวจสอบ แต่ขอยืนยันว่า ผู้บริโภคที่ใช้บริการของทรูและดีแทคยังไม่ได้รับผลกระทบในการให้บริการ”

ด้านนายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า หากปล่อยให้มีการควบรวมธุรกิจระหว่างทรูกับดีแทค จะทำให้ธุรกิจโทรศัพท์มือถือและโทรคมนาคมมีการผูกขาดในระดับอันตราย น่าเป็นห่วงมาก

ผู้ที่จะได้รับผลกระทบด้านลบมีหลายฝ่าย ได้แก่ ผู้บริโภค ธุรกิจต่างๆ ที่ต้องโมบายและอินเทอร์เน็ต คู่ค้าของบริษัทธุรกิจโทรคมนาคม เช่น ช็อปต่างๆ ที่ติดต่อขายโทรศัพท์มือถือให้ค่ายมือถือ ที่จะมีอำนาจต่อรองลดลง ขณะที่รัฐบาลจะได้รับผลกระทบด้านลบด้วย คือ ในการประมูลคลื่นความถี่ครั้งใหม่ เช่น การประมูลคลื่น 6G ในอนาคต คนที่จะเข้ามาแข่งขันลดลง ทำให้มีรายได้ลดลง

Leave a Comment