ร้อง ป.ป.ช.สอบกราวรูดเช่าระบบคอมพ์ศูนย์ดิจิทัลชุมชน เอื้อคู่ค้าเก่า ทำความเสียหายแก่รัฐกว่า 300 ล้าน

เครือข่ายสื่อมวลชนต่อต้านทุจริตแห่งชาติ ยื่นเรื่องสอบทุจริตบิ๊กดีอีเอส เช่าระบบคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ในศูนย์ดิจิทัลชุมชน กว่า 250 แห่ง หลังตรวจสอบพบกำหนดเงื่อนไข TOR-สเปกจัดหาเอื้อคู่ค้าเก่า เอาระบบเดิมมาย้อมแมวส่งมอบกันดื้อๆ ทำความเสียหายแก่รัฐกว่า 300 ล้าน

วันนี้ (2 ธ.ค.) นายณรงค์ ลาภเกิน รองประธานเครือข่ายสื่อมวลชนต่อต้านทุจริตแห่งชาติ (ส.ท.ช.) พร้อมคณะ ได้เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อขอให้ตรวจสอบการทุจริตโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พร้อมอุปกรณ์สนับสนุนโครงการศูนย์ดิจิทัลชุมชน กลุ่มที่ 2 (จำนวน 250 ศูนย์) ภายใต้โครงการยกระดับศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน ที่สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติดำเนินการประกวดราคาไปเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2564 โดยพบว่า มีการดำเนินการไม่โปร่งใส กำหนดเงื่อนไข TOR เอื้อประโยชน์ต่อผู้เสนอราคาบางราย ให้นำเอาระบบเก่ามาย้อมแมวส่งมอบ จนก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ

ทั้งนี้ แต่เดิมสัญญาเช่าระบบคอมพิวเตอร์ พร้อมอุปกรณ์ศูนย์ดิจิทัลชุมชน เฟสแรก จำนวน 250 ศูนย์ มูลค่า 270 ล้านบาท มีระยะเวลา 1 ปีจะสิ้นสุดสัญญาในเดือนกันยายน 2564 โดยมีบริษัท  โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) เป็นคู่สัญญา และมีการซับงานให้บริษัท สหวิริยาโอเอ จำกัด (มหาชน) (SVOA) เป็นผู้จัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์พร้อมอุปกรณ์อีกทอด ซึ่งเมื่อหมดสัญญา บริษัทที่ดูแลโครงการ (SVOA) จะต้องขนเครื่องคอมพิวเตอร์พร้อมอุปกรณ์เหล่านี้กลับสำนักงาน

แต่ปรากฏว่า สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลฯ ได้ทำการประกวดราคาจัดหาระบบคอมพิวเตอร์ พร้อมอุปกรณ์สนับสนุนศูนย์ดิจิทัลชุมชน ในกลุ่มที่ 2 เพิ่มเติมอีกจำนวน 250 ศูนย์ โดยมีการกำหนดเงื่อนไข TOR กำหนดสเปกจัดหาที่เอื้อประโยชน์ให้แก่กิจการร่วมค้า SA (บริษัท สหวิริยาโอเอ SVOA ร่วมกับบริษัท แอดวานซ์ อินฟอร์เมชั่นเทคโนโลยี) ซึ่งเป็นคู่ค้าเดิมให้เป็นผู้ชนะประกวดราคา และยังเปิดช่องให้มีการนำเอาคอมพิวเตอร์พร้อมอุปกรณ์ในโครงการเดิมบางส่วนมาสวมรอยส่งมอบอีกด้วย

ทั้งนี้ จากการติดตามตรวจสอบข้อมูลของเครือข่าย ส.ท.ช.พบว่า ก่อนหน้านี้ ทางกรรมาธิการการสื่อสารและโทรคมนาคม สภาผู้แทนฯ ได้เคยลงมาตรวจสอบโครงการนี้และเรียกผู้เกี่ยวข้องเข้าไปชี้แจง พร้อมกำชับไม่ให้มีการทุจริต แต่เมื่อมีการกำหนดเงื่อนไขจัดหาจริง กลับปรากฏว่า มีการกำหนด TOR ที่เอื้อประโยชน์ให้ผู้จัดหาระบบคอมพ์และอุปกรณ์รายเดิม คือ กิจการร่วมค้า SA สามารถจะนำเอาคอมพิวเตอร์พร้อมอุปกรณ์ที่ต้องส่งกลับสำนักงานใหญ่ มาดำเนินการส่งมอบได้

โดยมีการกำหนดเงื่อนไขให้พื้นที่ส่งมอบโครงการกลุ่มที่ 1 ที่เป็นศูนย์ดิจิทัลชุมชนเดิม ซึ่งที่จะต้องจัดหาเครื่องคอมพิวเตร์และอุปกรณ์จำนวน 24 รายการ มาทดแทนของเดิม แต่คณะกรรมการไม่มีการกำหนดคุณลักษณะของพัสดุที่จะจัดหาต้องเป็นของใหม่ ไม่เคยผ่านการใช้งานมาก่อน ในขณะพื้นที่ส่งมอบกลุ่มที่ 2 ที่เป็นศูนย์ดิจิทัลชุมชนใหม่ กลับมีการกำหนดสเปคระบบคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ที่จะส่งมอบต้องเป็นของใหม่ ส่อให้เห็นว่าเป็นการกำหนดเงื่อน TOR ที่เปิดโอกาสให้กิจการร่วมค้า SA สามารถนำอุปกรณ์ที่ต้องส่งกลับสำนักงานใหญ่หลังหมดสัญญากลับมาทำสัญญาเช่าใหม่ได้

“แม้ในข้อกำหนดระบบคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ทื่ต้องส่งมอบในพื้นที่จัดหากลุ่มที่ 1 และ 2 จะมีความแตกต่างกัน แต่หากคณะกรรมการจัดซื้อจะได้พิจารณาอย่างรอบคอบย่อมต้องคำนึงถึงประโยชน์ของทางราชการอย่างเคร่งครัด เพราะ ในเอกสารประกวดราคาหน้าที่ 1 อันเป็นข้อกำหนดหลักที่ผู้เสนอราคาทุกรายต้องปฏิบัติตามได้กำหนดข้อความชัดเจนว่า พัสดุที่จะเช่านี้ต้องเป็นของใหม่ ไม่เคยใช้งานมาก่อน ไม่เป็นของเก่าเก็บอยู่ในสภาพใช้งานได้ทันทีอยู่แล้ว”

นอกจากนี้ พฤติการณ์ในการเสนอราคาของผู้เข้าประกวดราคาทั้ง 3 รายได้แก่ กิจการร่วมค้า SA , บริษัท ริโก้ (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท คอนโทรลดาต้า (ประเทศไทย) จำกัด ก็เห็นได้ชัดเจนว่า มีการเสนอรายการพัสดุของท้ัง 2 กลุ่ม เป็นยี่ห้อและรุ่นเดียวกันเกือบทุกรายการ โดยเฉพาะการเสนอพัสดุในกลุ่มที่ 1 เครื่องคอมพิเตอร์สำหรับงานประมวลผลที่ทุกรายมีการเสนอยี่ห้อ Lenovo รุ่น ThinkCentre M75s ในราคาค่าเช่าเครื่องละ 30,000 บาท ซึ่งเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ยี่ห้อและรุ่นตามสัญญาเก่าของบริษัท NT ทั้งหมด จึงควรเป็นข้อสงสัยในการพิจารณาว่าผู้เสนอราคาทั้ง 3 รายมีการสมยอมในการเสนอราคาหรือไม่

ขณะเดียวกัน ยังพบด้วยว่า คณะกรรมการประกวดราคา ยังมีการกำหนดเงื่อนไข TOR ที่เอื้อประโยชน์ให้กิจการร่วมค้า SA อีกหลายประการ อาทิ การจัดส่งเจ้าหน้าที่ไปประจำศูนย์ดิจิทัลชุมชน ซึ่งในกลุ่มที่ 1 ซึ่งเป็นศูนย์เดิมไม่มีการกำหนดเงื่อนไขดังกล่าว ทำให้คู่ค้าเดิมที่ได้รับการพิจารณาคัดเลือกประหยัดต้นทุนไปโดยปริยาย

จากการติดตามของเครือข่ายฯ ยังพบว่า ระหว่างประกวดราคาจัดหาโครงการ หลายภาคส่วนที่มีข้อท้วงติงไปยังเลขาธิการคณะกรรมการเศรษฐกิจดิจิทัลฯ (นางวรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลการประกวดราคาให้ดำเนินการตรวจสอบการดำเนินโครงการนี้อย่างเข้มงวด แต่ก็กลับมีการปล่อยปละละเลย จนมีการกระกาศผลการประกวดราคาและลงนามในสัญญากันไป ทำให้มีการนำเอาพัสดุระบบคอมพิเวอต์พร้อมอุปกรณ์เดิมมาทำการส่งมอบ ยังความเสียหายให้แก่ทางราชการ เฉพาะที่คำนวณเป็นตัวเงินมากกว่า 326 ล้านบาท

ด้วยเหตุนี้ ทางเครือข่าย ส.ท.ช.จึงสงสัยในพฤติกรรมของข้าราชการเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการประกวดราคาโครงการนี้ รวมไปถึงบริษัทเอกชนที่เข้าร่วมประกวดราคาที่มีพฤติกรรมสวมยอมราคาเข้าประมูล จึงขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้เข้ามาตรวจสอบและเอาผิดกับบุคคลเหล่านี้

Leave a Comment